ลักษณะของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (ประเทศไทย)

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมีลักษณะเหมือนกับพระราชบัญญัติธรรมดาทั่วไป แต่มีหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้เป็นพิเศษบางประการ ดังต่อไปนี้

  • การเรียกชื่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ต้องเรียกว่า “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย... พ.ศ. ...” เช่น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2540
  • การตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ จะกระทำได้ก็แต่เฉพาะเรื่องที่รัฐธรรมนูญฯ บังคับไว้เท่านั้น จะตราขึ้นเพื่อใช้ในเรื่องอื่น ๆ ดังเช่นพระราชบัญญัติทั่วไปไม่ได้
  • พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บังคับให้ตราขึ้นมี 10 ฉบับ ดังต่อไปนี้เท่านั้น ส่วนกฎหมายอื่น ๆ แม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้ออกเพื่ออธิบายขยายความเพิ่มเติมได้ แต่รัฐธรรมนูญฯ ก็ไม่ถือว่าเป็นกฎหมายหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
  1. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 [1]
  2. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561[2]
  3. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560[3]
  4. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 [4] [5] [6] [7]
  5. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 [8]
  6. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560[9]
  7. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560[10]
  8. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561[11][12]
  9. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561[13]
  10. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560[14]
  • การตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทุกฉบับต้องทำให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาที่รัฐธรรมนูญฯ บังคับไว้ในมาตรา 267 กล่าวคือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทุกฉบับต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 240 วันนับแต่วันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
  • ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญใดที่มีการเสนอต่อรัฐสภา แล้วไม่ว่าโดยทางใดตาม มาตรา 132 ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบในการที่จะให้ออกใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญในวาระที่สามจำนวนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ในสภา เมื่อสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อลงพระปรมาภิไธยนั้น จะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญซึ่งศาลรัฐธรรมนูญต้องทำให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน
  • การคัดค้านว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมีความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ อาจทำได้โดยศาลรัฐธรรมนูญ แต่ในการลงมติให้แก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ให้ความเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกของแต่ละสภา ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย แต่ถ้าเป็นร่างพระราชบัญญัติทั่วไป ผู้เข้าชื่อต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาสซึ่งเป็นการแสดงว่ารัฐธรรมนูญต้องการให้การตรวจสอบ และควบคุมดูแลความถูกต้องของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทำได้ง่ายและคล่องตัวกว่าการตรวจสอบกฎหมายธรรมดา

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (ประเทศไทย) http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/...